รอยคล้ำรอบดวงตาเป็นปัญหาผิวอย่างหนึ่งที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ทั่วไป ถ้าหากคุณกำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ คุณอาจเกิดคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นฉันด้วย?” ซึ่งเราเข้าใจความรู้สึกนี้ดี และมันทำให้เราต้องทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาสาเหตุให้ได้ว่า ปัญหานี้เกิดจากอะไร สิ่งที่เราค้นพบก็คือ สาเหตุของการเกิดปัญหาขอบตาดำคล้ำนั้นมีมากมาย ซึ่งบางอย่างก็อาจทำให้คุณประหลาดใจ! สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดขอบตาดำคล้ำ และหายยาก มีดังนี้:
- การอยู่ท่ามกลางแสงแดดโดยไม่ได้มีการทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดเลยมาเป็นเวลานานหลายปี (การตากแดดเพื่อทำให้ตัวเองมีสีผิวคล้ำ หรือการเข้าไปใช้บริการย้อมผิวให้คล้ำ คือ สิ่งที่เลวร้ายที่สุด) เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การสร้างเม็ดสีผิวให้เข้มเกินไปจนปรากฏออกมาให้เห็นผ่านผิวอันบอบบางบริเวณรอบดวงตา
- การไหลเวียนของโลหิตที่ปรากฏให้เห็นผ่านผิวอันบอบบางบริเวณรอบดวงตา หรือที่เรียกกันว่า รอยคล้ำที่เกิดจากหลอดเลือด (vascular dark circles)
- การใช้ส่วนผสมที่กระทำรุนแรงหรือกระด้างต่อผิว โดยเฉพาะผิวบริเวณรอบดวงตา ซึ่งรวมถึงส่วนผสมที่ให้กลิ่นหอมด้วย
- อาการแพ้ต่างๆ
- กรรมพันธุ์ เช่น สมาชิกภายในครอบครัวเป็นผู้ที่มีแนวโน้มที่จะมีขอบตาดำคล้ำ
- การเกิดจากเงาตามธรรมชาติ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีเบ้าตาลึก
- การเกิดเงาอันเนื่องจากผิวหย่อนคล้อย และสูญเสียความตึงกระชับ
- ปัญหาผิวรอบดวงตาแห้ง และขาดความชุ่มชื้น ซึ่งสะสมขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดผิวหมองคล้ำและสูญเสียความกระจ่างใส
- นิสัยชอบขยี้ตา ซึ่งจะสร่างความเสียหายแก่ผิวอันบอบบางรอบดวงตามากขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าประหลาดใจ คือ การอดหลับอดนอนกลับไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขอบตาดำคล้ำ –แต่การนอนหลับไม่เพียงพอเป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหาขอบตาดำคล้ำที่เป็นอยู่แล้วดูเลวร้ายลงมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่คงเป็นเรื่องที่หลายคนทราบดีอยู่แล้ว
ถ้าหากคุณเป็นผู้ที่มีปัญหาขอบตาดำคล้ำ และเคยพยายามที่จะทำให้ปัญหานี้หมดไป ก็แน่ใจได้เลยว่าคุณต้องเคยพบกับผิดหวังมาแล้วแน่ๆ จริงอยู่ที่คุณไม่อาจทำให้ปัญหาขอบตาดำคล้ำนั้นหายไปอย่างถาวรได้ แต่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ถนอมผิวบางชนิด หรือการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญบางอย่างที่อาจมอบผลลัพธ์อันน่าประทับใจได้
การใช้ผลิตภัณฑ์ถนอมผิว ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาดผิวไปจนถึงผลิตภัณฑ์ช่วยผลัดเซลล์ผิว AHA หรือ BHA ชนิดทาทิ้งไว้โดยไม่ต้องล้างออก ผลิตภัณฑ์เรตินอล เซรั่ม และผลิตภัณฑ์ทากันแดด รวมถึงผลิตภัณฑ์ทาผิวรอบดวงตาที่มีสูตรส่วนผสมที่ดีและอ่อนโยนจะช่วยให้ปัญหาขอบตาดำคล้ำของคุณดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุป คือ ผลิตภัณฑ์ถนอมผิวที่คุณใช้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทากันแดดที่มีฤทธิ์ปกป้องกว้าง (broad-spectrum sun protection) ที่มี SPF 30 หรือสูงกว่า (คุณคงคิดไม่ถึงว่า การทำลายของแสงแดด คือ สาเหตุหนึ่งของปัญหาขอบตาดำคล้ำและมักมองข้าม) คือสิ่งจำเป็นสำหรับการช่วยทำให้ปัญหาขอบตาดำคล้ำมีสภาพที่ดีขึ้น นอกจากนั้นแล้วต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรกระทำเพื่อช่วยลดปัญหารอยคล้ำรอบดวงตาให้ลดลงอย่างชัดเจน:
- เวลาออกข้างนอกให้สวมแว่นตากันแดดเสมอ นี่สิ่งสิ่งที่ได้ผลพอๆ กับการทาผลิตภัณฑ์ทากันแดดลงบนผิวรอบดวงตา
ผิวบริเวณรอบดวงตานั้นค่อนข้างบอบบาง และต้องการการปกป้องมากยิ่งขึ้น แว่นตากันแดดชนิดที่ปกป้องรังสี UV ได้ 100% นั้นสามารถช่วยได้มาก และยิ่งเป็นแว่นตาที่เหมาะใบหน้าของคุณ ก็จะยิ่งทำให้คุณดูดีมากยิ่งขึ้น - รับประทานยาแก้แพ้ (anti-histamine) ที่คุณหาซื้อได้ตามร้านขายยา อาการแพ้มักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขอบตาดำคล้ำ (และตาบวมช้ำ) ที่คุณไม่คาดคิดมาก่อน ขอให้คุณลองปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาดูเกี่ยวกับคำแนะนำต่างๆ
และทำตามนั้น - ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทาช่วยทำให้ผิวขาว ผลิตภัณฑ์ที่ทาช่วยทำให้ผิวขาวที่มีสูตรส่วนผสมดีๆ สามารถช่วยให้รอยดำคล้ำนั้นดูจางลง เนื่องจากมันช่วยปรับปรุงผิวรอบดวงตาให้มีความขาวใสและสว่างไสวมากยิ่งขึ้น ขอให้มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสูตรส่วนผสมของ วิตามินซี (กรดแอสคอบิค) หรือ ไนอาซินาไมด์ (วิตามินบี 3) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนเข้มข้น 2% สามารถช่วยปรับปรุงสภาพรอยคล้ำที่เกิดจากการออกไปตากแดดโดยไม่ได้ทา ผลิตภัณฑ์ทากันแดดให้ดูดีขึ้นมาก และเพื่อให้มีผลลัพธ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น ขอแนะนำให้คุณทาผลิตภัณฑ์ไฮโดรควิโนนอีกชั้นหนึ่งวันละ 2 ครั้ง หลังจากที่ทาผลิตภัณฑ์ทาเพื่อให้ผิวขาวแล้ว (และต้องไม่ลืมทาผลิตภัณฑ์ทากันแดดเป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับตอนกลางวันด้วย)
- ลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดอะซีเลอิค (azelaic acid) ส่วนผสมนี้ถ้าใช้ในปริมาณความเข้มข้นที่สูงขึ้นสามารถช่วยให้รอยดำคล้ำที่เกิดจากการทำลายของแสงแดดจางลงได้ โดยทาผลิตภัณฑ์ที่มีกรดอะซีเลอิคหลังจากที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทาช่วยทำให้ผิวขาว เพียงวันละ 1 หรือ 2 ครั้งบนบริเวณใต้ดวงตาการทำเช่นนี้จะมอบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบนบริเวณที่ดำคล้ำมาก
- มองหาผลิตภัณฑ์ทาเพื่อปกปิดริ้วรอย (concealer) ที่ดีสักชิ้น ผลิตภัณฑ์ทาเพื่อปกปิดริ้วรอยที่ทาแล้วมีสีด้านอ่อนโยนหรือให้สัมผัสลื่น (ไม่ใช่ชนิดครีม และมีสัมผัสมัน) เป็นชนิดที่ดีที่สุด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะติดทนนานกว่าและไม่ก่อให้เกิดรอยย่น
แล้วมีการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญใดบ้างที่คุณสามารถเลือกได้? จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีวิธีรักษาหลายอย่างที่ได้ผลดี แม้ว่าอาจต้องใช้การรักษามากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เช่น การทำ IPL (Intense Pulsed Light) / การทำเลเซอร์แบบใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Laser) / Q-switched Ruby Laser / Pulsed Dye Lasers และ Ablative Lasers (เลเซอร์ลอกชั้นผิวซึ่งเป็นการทำเลเซอร์มีความเสียงมากที่สุด และใช้เวลาพักฟื้นนานที่สุด)
มีสิ่งใดที่แพทย์สามารถทำได้อีกหรือไม่? มี ได้ แก่ การฉีดฟิลเลอร์ (Dermal Fillers)โดยใช้กรดไฮยาลูโรนิค การถ่ายโอนไขมัน และการทำศัยลกรรมความงาม ที่เรียกกันว่า Blepharoplastry (การศัลยกรรมผิวหนังเปลือกตา)
บางครั้ง อาจใช้วิธีผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดซาลิไซลิค (BHA) เพื่อแก้ไขรอยดำคล้ำซึ่งเกือบทุกกรณีจะเป็นวิธีที่กระทำร่วมกับการรักษาวิธีอื่น (ปัญหาขอบตาคล้ำ เป็นปัญหาที่ต้องทุ่มเทในการรักษามาก!)
วิธีการรักษาทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่พุ่งเป้าไปยัง (1) ต้นเหตุต่างๆ ของปัญหา รวมถึง (2) การเปลี่ยนแปลงสีผิวชั้นบน และ (3) ช่วยปรับปรุงสภาพผิวที่บริเวณรอบด้วยตาด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผิวบริเวณดังกล่าวมีความเนียนเรียบ แน่น และตึงกระชับยิ่งขึ้น การใช้วิธีรักษาทั้งหมดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสามดังกล่าว ร่วมกับการใช้ชุดผลิตภัณฑ์ถนอมผิวชั้นเยี่ยมด้วย (อย่าลืมว่าต้องมีผลิตภัณฑ์ทากันแดดด้วย) เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผ่านการพิสูจน์โดยงานค้นคว้าวิจัยแล้วว่า สามารถช่วยให้สภาพปัญหาขอบตาดำคล้ำนั้นดีขึ้นได้อย่างมากมายทีเดียว
ข้อมูลที่นำมาใช้อ้างอิง
Lasers in Medical Science, ธันวาคม 2016, หน้า 1783–1787
Skin Research and Technology, สิงหาคม 2016, หน้า 276–283
Indian Journal of Dermatology, กรกฎาคม-สิงหาคม 2016, หน้า 413–417
Journal of Cutaneous and Aesthetic Surgery, เมษายน-มิถุนายน 2016, หน้า 65–72
The Journal of Clinical and Aesthetic Dermatology, มกราคม 2016, หน้า 49–55
Annals of Brazilian Dermatology, กรกฎาคม-สิงหาคม 2015, หน้า 494–503
Indian Journal of Dermatology, มีนาคม-เมษายน 2014, หน้า 151–157
Annals of Brazilian Dermatology, มกราคม-กุมภาพันธ์ 2014, หน้า 11–25
Dermatologic Surgery, สิงหาคม 2012, หน้า 1277–1282
Dermatologic Surgery, สิงหาคม 2009, หน้า 1163–1171