“สิว” อาจจะเป็นปัญหาที่ไม่อันตรายแต่ก็บ่อนทำลายความมั่นใจในตัวเองของใครหลายคน มีคนมากมายเชื่อว่าสิวเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น และจะหายไปเองเมื่อเราอายุมากขึ้น แต่ความจริงก็คือ แม้อายุปลายเลขสามก็ยังสามารถเกิดสิวได้ อย่ากังวลใจไป เพราะเราจะมาทำความเข้าใจกับสิวและวิธีการรักษาอย่างถูกต้อง
สิว คือ ตุ่มเม็ดเล็ก ๆ มักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า และตำแหน่งที่มีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น (Seborrheic area) เช่น หน้าอก และ หลัง โดยเกิดขึ้นจากการที่ผิวหนังมีการสร้างไขมัน (Sebum) มากเกินพอดี ทำให้เกิดการอุดตันอยู่ที่บริเวณรูขุมขน เกิดเป็นหัวสิว (Comedone) ซึ่งสามารถอักเสบได้ง่ายหากมีตัวกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น เชื้อแบคทีเรีย P.acne. ในรูขุมขน หรือการใช้เครื่องสำอางที่อุดตันรูขุมขน
เราสามารถแบ่งประเภท สิวได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ
1. สิวอุดตัน เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน (Comedone) แบ่งเป็น 2 ชนิด
1.1 สิวหัวปิด (Close comedones) จะเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ หัวขาวๆ
1.2 สิวหัวเปิด (Open comedones) หรือสิวหัวดำ
2.สิวอักเสบคือสิวที่หัวแดงอักเสบ (Inflame papules) เป็นหนอง (Pustule) หรือพบคลำได้เป็นไตแข็งๆ ใต้ผิวหนัง มักกดเจ็บ (Nodulocystic) ซึ่งสิวกลุ่มนี้คือ สิวอุดตันที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
สาเหตุของสิว
สิวมีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ แบ่งได้ 2 ปัจจัยดังนี้
1. ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยที่เกิดจากร่างกายเราเอง เช่น ฮอร์โมนความเครียด กรรมพันธุ์และ โรคทางต่อมไร้ท่อบางชนิด
2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากนอกร่างกายของเรา เช่น ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากันชัก ยารักษาวัณโรค, เครื่องสำอาง, สิ่งที่ระคายเคืองผิว เช่น การขัดหน้า นวดหน้า หรือ สภาวะแวดล้อมต่างๆ
เคล็ดลับแก้ไขปัญหาสิว
เราไม่สามารถป้องกันสิวได้ 100% แต่เราสามารถลดโอกาสเกิดหรือทำให้สิวอักเสบมากขึ้นไปอีกได้ โดยการดูแลผิวอย่างถูกต้อง
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิว เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสิว, ใช้เครี่องสำอางเท่าที่จำเป็น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส
2. การเลือกใช้เครื่องสำอางที่เหมาะสม คุณไม่จำเป็นต้องหยุดใช้เครื่องสำอาง แต่แนะนำให้ใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน “oil-free” หรือ ไม่ก่อให้เกิดสิว “non-acnegenic” และ ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน “non-comedogenic” ส่วนแป้ง แนะนำเป็น แป้งฝุ่น (Loose powder) มากกว่า แป้งผสมรองพื้น (Compact powder)
3. การล้างหน้า และทำความสะอาดผิว ควรล้างหน้าด้วยสบู่ล้างหน้าสูตรอ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว (Gentle cleanser) วันละไม่เกิน 2 – 3 ครั้ง ไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว และอาจกระตุ้นสิวให้เป็นมากขึ้น สำหรับสิวหัวดำ
วิธีการรักษา
การรักษาสิวในปัจจุบันมีหลากหลาย ทั้งยาทา ยารับประทาน การทำหัตถการต่าง ๆ การทำการรักษาด้วยเลเซอร์ ซึ่งการรักษาในแต่ละกลุ่ม มีการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่ผลข้างเคียงน้อยที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย อย่างไรก็ดี อาจใช้วิธีร่วมกันดังนี้
การใช้ยาในการรักษาสิว
– ในรายที่ความรุนแรงของสิวเป็นไม่มาก อาจพิจารณา ใช้ยาทาภายนอก โดยมีกลุ่มยาที่ใช้หลักๆ ได้แก่ ยาทาละลายหัวสิว ยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบ และ ยาทากลุ่มเรตินอล เพื่อ ลดการเกิดใหม่ของสิว และ ลดสิวอุดตัน
– ในรายที่เป็นมากอาจพิจารณา ใช้ยารับประทาน โดยยารับประทาน มี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบ ยาควบคุมระดับฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด และ ยากลุ่มกรดวิตามินเอ การรับประทานยาทุกชนิดมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ค่ะ ยารับประทานรักษาสิวก็เช่นกัน โดยผลข้างเคียงขึ้นอยู่กับชนิดของยาสิว เช่น ถ้าเป็นยากลุ่มแก้อักเสบก็อาจเกิดอาการแพ้ยาได้ ยากลุ่มยาคุมกำเนิด อาจมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ คัดตึงเต้านมได้ ส่วนยากลุ่มกรดวิตามินเอ เป็นยากลุ่มที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด แต่ก็จะมีผลข้างเคียงมากตามไปด้วยเช่นกัน เช่น ตาแห้ง ปากแห้ง ช่วงรับประทานยา ห้ามคนไข้ตั้งครรภ์เด็ดขาด เพราะเด็กในครรภ์อาจจะพิการได้ นอกจากนี้ยังพบภาวะตับอักเสบ หรือไขมันในเลือดสูงได้ ถึงแม้พบได้ไม่บ่อยนัก จึงแนะนำให้มีการเจาะเลือดตรวจเป็นระยะๆ ในคนไข้ที่รับประทานยากลุ่มนี้ และแนะนำปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มรับประทานยาค่ะ
การทำหัตถการต่างๆ ในการรักษาสิว
1) การกดสิว และ การฉีดสิว (Comedone extraction, Acne injection)
– การกดสิวจะใช้ในกรณีสิวอุดตัน และ การฉีดสิวจะใช้ในกรณีสิวอักเสบ เพื่อทำให้สิวยุบได้เร็วขึ้น
2) การใช้กรดผลไม้ผลัดเซลล์ผิว (Chemical peel)
– เพื่อช่วยละลายสิวอุดตันและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงช่วยลดรอยแผลเป็นซึ่งเกิดจากสิว
3) การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (Laser and Light treatments)
– ปัจจุบันมีการใช้แสงและแสงเลเซอร์ เพื่อช่วยรักษาสิวและรอยสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพหลายชนิด เช่น Diode lasers, Photopneumatic therapy เพื่อช่วยลดสิวอักเสบ, กลุ่ม Vascular lasers เช่น Pulsed Dye Laser (V-beam) เพื่อช่วยลดสิวอักเสบและรอยแดงสิว, Fractional lasers เพื่อช่วยลดเลือนรอยหลุมแผลเป็นสิว
การรักษาสิวจะเริ่มเห็นผลหลังการรักษา ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ค่ะ ส่วนระยะเวลาในการรักษา ถ้าเป็นจากการแพ้เครื่องสำอาง หรือ แพ้ยา หลังหยุดยา หรือเครื่องสำอาง และทำการรักษา อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากรักษาโดยประมาณ 2 สัปดาห์ และ หายได้ในเวลา 1 – 2 เดือน แต่ถ้ามีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สิวจากฮอร์โมน การทำงาน หรือ การแพ้ เครื่องสำอางนั้นๆ กระตุ้นให้สภาพผิวเปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นสิวเป็น ๆ หาย ๆ ได้ ซึ่งเมื่ออาการทุเลาแล้ว อาจใช้ยาทาบางชนิด เช่น กลุ่มกรดวิตามินเอ เพื่อป้องกันการกลับเป็นใหม่
ข้อมูลจาก: บทความสุขภาพ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล